Arm Pump เล่นงาน ‘ก้อง สมเกียรติ’ กระทบมากน้อยขนาดไหน

ในการแข่งขัน MotoGP สนามที่ห้าของฤดูกาล 2025 ซึ่งทำการแข่งขันที่สนามเฆเรซ ประเทศสเปน โดยหนึ่งในนักแข่งสัญชาติไทยจากทีม IDEMITSU Honda LCR อย่าง ‘ก้อง’ สมเกียรติ จันทรา นักบิดเจ้าของหมายเลข 35 ก็ได้ลงทำศึกนี้เช่นเดียวกัน แต่ทว่า ‘เจ้าก้อง’ ของเราก็ไม่สามารถขี่จนจบการแข่งขันได้ และวิ่งไปเพียง 11 รอบสนามเท่านั้น ซึ่งปัญหาที่ทำให้แข่งขันต่อไม่ได้ก็เพราะเกิดปัญหาอาการ ‘Arm Pump’ ว่าแต่อาการนี้มันคืออาการอะไร ? สามารถอ่านรายละเอียดอาการนี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่ (คลิ๊ก)
ซึ่งก้อง สมเกียรติได้ออกมาเผยว่าตัวเขานั้นประสบปัญหาอาร์มปั๊มมาเป็นระยะเวลาร่วมสัปดาห์ก่อนการแข่งขันที่สนามเฆเรซ ซึ่งเจ้าตัวเขาคิดว่ามันน่าจะหายเอง แต่แล้วอาการดังกล่าวก็กำเริบขึ้นอีกครั้ง
วิธีการรักษา

การรักษาอาการ Arm Pump สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อคลายพังผืด (เยื่อหุ้มเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของกล้ามเนื้อ) โดยทั่วไปจะทำภายใต้การดมยาสลบ ซึ่งการผ่าตัดนี้อาจเป็นการผ่าแยกพังผืดหรือการตัดพังผืดออก ความท้าทายอยู่ที่การวินิจฉัยโรค แต่ผลลัพธ์ของการรักษานั้นถือว่าประสบความสำเร็จในผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ประมาณ 80-90%)
การปฏิบัติหลังการผ่าตัด หลังจากทำการผ่าตัดคลายพังผืด (fasciectomy/fasciotomy) ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักการใช้งานแขน แขนจะถูกพันผ้าไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องใส่เฝือก และต้องดูแลแผลผ่าตัดให้แห้งอย่างน้อย 10 วัน
ซึ่งถ้า ก้อง สมเกียรติ ใช้วิธีผ่าตัดในการรักษาอาร์มปั๊ม จากข้อมูลการรักษาทั่วไปจะต้องใช้เวลาในการพักฟื้นจนกว่าจะกลับมาแข่งขันได้อาจจะต้องใช้เวลาพักฟื้น 6-8 สัปดาห์ หรือประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งจากตารางการแข่งขัน MotoGP ในช่วง 2 เดือนนี้ ก้องจะพลาดลงทำศึก MotoGP ถึง 5 สนามการแข่งขันดังนี้
สนามที่ทำการแข่งขัน | วันที่ทำการแข่งขัน |
Michelin® Grand Prix de France สนาม Le Mans ประเทศฝรั่งเศส | 09 พฤษภาคม – 11 พฤษภาคม |
Tissot British Grand Prix สนาม Silverstone Circuit ประเทศอังกฤษ | 23 พฤษภาคม – 25 พฤษภาคม |
GoPro Grand Prix of Aragon สนาม MotorLand Aragón ประเทศสเปน | 06 มิถุนายน – 08 มิถุนายน |
Brembo Grand Prix of Italy สนาม Autodromo Internazionale del Mugello ประเทศอิตาลี | 20 มิถุนายน – 22 มิถุนายน |
Motul TT Assen สนาม TT Circuit Assen ประเทศเนเธอร์แลนด์ | 27 มิถุนายน – 29 มิถุนายน |
ซึ่งดูจากชื่อในการแข่งขันแต่ละสนามแล้วนั้นก็ค่อนข้าง ‘น่าเสียดายไม่น้อย’ เพราะชื่อชั้นของแต่ละสนามที่ก้องพลาดลงแข่ง (หากผ่าตัด) ก็ถือว่าเป็นสนามที่มีความน่าสนใจ เพราะเมื่อครั้งที่ก้องยังโลดแล่นอยู่ใน Moto2 สนามดังกล่าวก็เป็นสนามที่นักแข่งชาวไทยรายนี้ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม สามารถคว้าท็อป 10 ได้ในทุกสนาม เว้นแต่สนาม Silverstone Circuit ประเทศอังกฤษที่ก้องไม่จบการแข่งขัน
สนามที่ทำการแข่งขัน | อันดับที่ทำได้ |
Michelin® Grand Prix de France สนาม Le Mans ประเทศฝรั่งเศส | อันดับที่ 5 |
Tissot British Grand Prix สนาม Silverstone Circuit ประเทศอังกฤษ | ไม่จบการแข่งขัน |
GoPro Grand Prix of Aragon สนาม MotorLand Aragón ประเทศสเปน | อันดับที่ 6 |
Brembo Grand Prix of Italy สนาม Autodromo Internazionale del Mugello ประเทศอิตาลี | อันดับที่ 9 |
Motul TT Assen สนาม TT Circuit Assen ประเทศเนเธอร์แลนด์ | อันดับที่ 5 |
ก้อง สมเกียรติ พลาด 5 สนามเสียหายมากพอสมควร

วิเคราะห์ “ถ้า” ก้อง สมเกียรติ ไม่ได้ลงแข่งขันใน 5 สนามดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบอยู่ไม่น้อยสำหรับนักแข่งสัญชาติไทยรายนี้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
• ด้านคะแนนสะสม และตารางอันดับ
หลังผ่านการแข่งขันไปแล้ว 5 สนามในฤดูกาล 2025 นักแข่งสัญชาติไทยรายนี้ยังไม่สามารถเก็บแต้มได้เลยแม้แต่สนามเดียว ซึ่งถ้าเทียบกับ Rookie อีก 2 คนที่ถูก Promote ขึ้นมาพร้อมกันอย่าง ไอ โอกุระ เก็บคะแนนสะสมได้ 37 คะแนนอยู่ในอันดับที่ 8 ของตาราง และเฟอร์มิน อัลเดเกร์ เก็บคะแนนสะสมได้ 25 อยู่ในอันดับที่ 14 ของตารางคะแนน
• ด้านพัฒนาการ และความมั่นใจ

ซึ่งถ้าก้อง สมเกียรติ พลาดแข่งขันในสนามดังกล่าว ซึ่งดูจากชื่อชั้นแล้วก็เป็นสนามระดับคลาสสิคที่นักบิดใครต่อหลายคนยังต้องเรียนรู้ แม้ว่าก้องจะเคยขี่ในสนามเหล่านั้นในคลาส Moto2 มาแล้ว แต่การขยับเลเวลขึ้นมาแข่งขันในระดับ MotoGP ถือว่าก้องเหมือนจะต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด เพราะรถที่ใช้แข่งขันใหม่เครื่องใหญ่ขึ้น คู่แข่งใหม่ระดับโลก
อีกทั้งการขาดการแข่งขันในสนามเหล่านี้ไป หมายถึง “ก้อง” จะพลาดข้อมูลสำคัญในการพัฒนาทักษะในระดับ MotoGP โดยเฉพาะการปรับตัวเข้ากับลักษณะแทร็กในยุโรป
• ด้านทีม และเทคนิคตัวรถ
แน่นอนว่าเมื่อก้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการดังกล่าว ทีม LCR Honda อาจจะต้องทำการหานักแข่ง “Wildcard หรือ Replacement Rider” ซึ่งอาจทำให้ทีมเสียความต่อเนื่องในการพัฒนา
ซึ่งไม่เพียงแค่ก้อง สมเกียรติเท่านั้นที่ได้รับอาการบาดเจ็บอาร์มปั๊ม แต่นักแข่งระดับโลกก็ล้วนแต่ต้องเผชิญกับอาการบาดเจ็บเหล่านี้ทั้งนั้น อย่างเช่นเจ้าของแชมป์โลก 8 สมัยอย่าง มาร์ก มาร์เกซ ก็ได้รับบาดเจ็บอาการนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเจ้าตัวนั้นเริ่มมีอาการอาร์มปั๊มตั้งแต่ปี 2011 เมื่อตอนที่เขายังแข่งขันอยู่ในรุ่นของ Moto2 ซึ่งในขณะนั้นเจ้าตัวก็เลือกที่จะยังไม่รับการผ่าตัด แต่รักษาไปตามอาการเท่านั้น

แต่แล้วก็ไม่ยั่งยืน จากนั้นในปี 2014 เจ้าตัวก็เข้ารับการผ่าตัดและพักฟื้นราว ๆ 4-6 สัปดาห์ ซึ่งที่เจ้าตัวตัดสินใจผ่าก็เพราะว่าต้องการให้อาการดังกล่าวหายขาด และเพื่อให้ตัวเขาได้คว้าแชมป์โลกได้อย่างไร้อาการบาดเจ็บมารบกวน
“Arm Pump มันไม่ใช่เรื่องของความฟิต แต่มันคือการที่กล้ามเนื้อแขนของคุณหมดแรงจนคุณไม่สามารถควบคุมรถได้เลย”
เบื้องต้นทางด้านของนักแข่งไทย เจ้าของหมายเลข 35 อย่าง ‘ก้อง’ สมเกียรติ จันทรา จะเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการดังกล่าว แต่จะต้องผ่าตัดหรือไม่นั้นก็ต้องติดตามกันต่อไป
รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก