Arm Pump คืออะไร ? อุปสรรคของนักกีฬามอเตอร์สปอร์ต

Arm Pump หรือภาวะกล้ามเนื้อแขนตึงจากความดันในช่องกล้ามเนื้อ หรือชื่อทางการแพทย์ของภาวะนี้คือ Chronic Exertional Compartment Syndrome (CECS) คือปัญหาที่พบบ่อยในนักกีฬาที่ใช้กำลังแขนต่อเนื่อง เช่น นักแข่งมอเตอร์ไซค์ นักจักรยาน และนักปีนเขา ส่งผลให้เกิดอาการปวด บวม ตึง และสูญเสียแรงบีบมือชั่วคราว อาการนี้อาจกระทบต่อสมรรถนะการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ซึ่งอาการคือการปวดของกล้ามเนื้อปลายแขน ที่เกิดการบวมตึงจากการใช้งานหนักมากจนเกินไป จนทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และก่อให้เกิดอาการบวม ชา และควบคุมมือได้ยาก
สาเหตุของการเกิดอาการ

ภาวะอาการของอาร์มปั๊มจะเป็นอาการปวดปลายแขนอย่างมากหลังจากออกแรง และอาการดังกล่าวจะหายไปได้เองจากการพักจากการออกแรงเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยอาการทั่วไปปลายแขนจะรู้สึกแข็งและตึงในช่วงที่มีอาการปวด อาจมีอาการชาบริเวณมือ หรือกล้ามเนื้อปลายแขนซึ่งเกิดอาการเกร็ง อ่อนแรง หรือควบคุมการเคลื่อนไหวได้ไม่ดี
ภาวะนี้มักเกิดจากการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ และใช้แรงมาก ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อปลายแขนบวมและกดทับเส้นเลือดและเส้นประสาทภายในช่องกล้ามเนื้อ
การกดทับนี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง และนำไปสู่อาการที่สัมพันธ์กับอาร์มปั๊มซึ่งสัมพันธ์กับสาเหตุต่าง ๆ ได้ดังนี้
• กล้ามเนื้อล้า
อันเนื่องมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อปลายแขนหนักหรือบ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดความล้า บวม และเพิ่มความดันภายในช่องกล้ามเนื้อ
• ท่าทางหรือเทคนิคที่ไม่เหมาะสม
การวางท่าทางของร่างกายไม่ถูกต้องขณะขี่มอเตอร์ไซค์หรือปั่นจักรยาน อาจทำให้กล้ามเนื้อถูกใช้งานผิดรูปแบบและเกิดแรงกดทับ
• แรงบีบมากเกินไป
การจับสิ่งของแน่นเกินไป เช่น แฮนด์รถ หรือกริปสำหรับปีนผา อาจเร่งให้เกิดกล้ามเนื้อล้าและการกดทับ
• ภาวะขาดน้ำ
การดื่มน้ำน้อยหรือร่างกายขาดน้ำอาจทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งง่าย และทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ความดันในช่องกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น

Arm Pump ขัั้นตอน และวิธีการรักษา
การรักษาอาการอาร์มปั๊มนั้นมีอยู่สองวิธี คือการรักษาโดยวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
• การรักษาอาการอาร์มปั๊มโดยไม่ต้องผ่าตัด
การพักและการฟื้นตัว: การหยุดพักและให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อนสามารถช่วยบรรเทาอาการและป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติมได้
การยืดกล้ามเนื้อและการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง การยืดกล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างและเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความทนทานของกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการอาร์มปั๊มได้
เทคนิคและสรีรศาสตร์ที่เหมาะสม การจัดท่าทางร่างกายและการใช้เทคนิคที่ถูกต้องระหว่างการทำกิจกรรมสามารถช่วยลดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อแขนได้
การดูแลเรื่องน้ำ และโภชนาการ การรักษาความชุ่มชื้นในร่างกายอย่างเพียงพอและการรับประทานอาหารที่สมดุลสามารถสนับสนุนการทำงานของกล้ามเนื้อและป้องกันการเป็นตะคริวได้
การสวมอุปกรณ์บีบรัดกล้ามเนื้อ การสวมปลอกแขนหรือผ้าพันแขนแบบบีบรัดระหว่างการทำกิจกรรมสามารถช่วยลดอาการบวมและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อแขนได้
• การรักษาอาการอาร์มปั๊มโดยวิธีการผ่าตัด

อาการอาร์มปั๊มสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อคลายพังผืด (เยื่อหุ้มเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของกล้ามเนื้อ) โดยทั่วไปจะทำภายใต้การดมยาสลบ ซึ่งการผ่าตัดนี้อาจเป็นการผ่าแยกพังผืดหรือการตัดพังผืดออก ความท้าทายอยู่ที่การวินิจฉัยโรค แต่ผลลัพธ์ของการรักษานั้นถือว่าประสบความสำเร็จในผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ประมาณ 80-90%)
วิธีการป้องกัน และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการ

วิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการอาร์มปั๊ม สำหรับนักกีฬา โดยเฉพาะนักแข่งมอเตอร์ไซค์หรือผู้ที่ใช้แขนอย่างต่อเนื่อง จะมีวิธีป้องกันเบื้องต้น ดังนี้
- ฝึกกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี
ควรมีการฝึกกล้ามเนื้อเพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรง และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อปลายแขน อาจจะเป็นการเวทเทรนนิ่งด้วยน้ำเบา แต่ทำซ้ำหลายครั้งเพื่อเป็นการเพิ่มความทนทานให้กับกล้ามเนื้อ
2. ยืดกล้ามเนื้อก่อน – หลังแข่งขัน
ก่อนลงทำการแข่งขัน หรือก่อนลงทำการซ้อมควรมีการยืดกล้ามเนื้อปลายแขน ข้อมือ เพื่อเป็นการช่วยลดแรงตึงในกล้ามเนื้อ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
3. รักษาระดับน้ำในร่างกาย และการดูแลโภชนาการ
ควรดื่มน้ำให้เพียงพอทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการออกกำลัง หรือทำการแข่งขัน และอาจจะมีการรับประทานอาหารที่ช่วยลดการอักเสบเช่น โอเมก้า-3, แมกนีเซียม และวิตามินบี
4. ปรับตำแหน่งการขับขี่ให้เหมาะสม
เพื่อให้การลงซ้อม หรือการทำการแข่งขันเป็นไปอย่างราบรื่น ควรมีการปรับค่า หรือเซ็ตอัพตำแหน่งท่านั่งการขับขี่ให้เหมาะสมกับสรีระของผู้ขับขี่ ปรับตำแหน่งแฮนด์, เบรก และคลัตซ์ให้เหมาะสม อาจจะมีการใช้เทคนิคขับขี่ที่เน้นการผ่อนแรง ไม่เกร็งแขนตลอดเวลา
แม้อาการอาร์มปั๊มจะดูเป็นเพียงอาการปวดกล้ามเนื้อทั่วไป แต่หากละเลยอาจส่งผลร้ายต่อสมรรถนะและเส้นทางอาชีพของนักกีฬา การรู้เท่าทัน ป้องกัน และดูแลอย่างถูกวิธี คือกุญแจสำคัญสู่ความปลอดภัยและความยั่งยืนในการแข่งขัน
รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก